ทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการใจสั่น

สาเหตุของอาการใจสั่นมีดังนี้
– อารมณ์ที่มีความรุนแรงมาก เช่น วิตกกังวล หวาดกลัว เคร่งเครียด เป็นต้น
– การออกกำลังกายหรือใช้กำลังในการทำกิจกรรมมากกว่าปกติ
– สารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจบางอย่าง เช่นคาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดบางประเภทเช่น โคเคนหรือแอมเฟตามีน เป็นต้น
– โรคหรือภาวะความเจ็บป่วยบางชนิด เช่นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ ภาวะโลหิตจาง ความดันโลหิตต่ำ มีไข้และขาดสารน้ำในร่างกาย
– ความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนในบางสภาวะเช่น ในขณะตั้งครรภ์ ขณะกำลังมีประจำเดือน หรือวัยใกล้หมดประจำเดือน เป็นต้น
– ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาลดน้ำมูก ยาพ่นหรือยารับประทานเพื่อขยายหลอดลม ยาลดความอ้วน เป็นต้น
– พืชสมุนไพรและวิตามินบำรุงบางอย่าง
– ระดับเกลือแร่บางชนิดในร่างกายมีความผิดปกติ
ทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการใจสั่น
อาการใจสั่น เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเต้นของหัวใจที่แรงหรือเร็วกว่าปกติ ซึ่งหัวใจอาจจะเต้นเป็นจังหวะปกติหรือผิดปกติก็ได้ โดยปกติแล้วเรามักไม่รู้สึกถึงการเต้นของหัวใจ แต่ในบางครั้งที่หัวใจเต้นแรงหรือเร็วมาก อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบเหนื่อย หรือเวียนศีรษะจนอาจส่งผลให้เกิดการหน้ามืดหรือหมดสติและอาจรุนแรงจนมีผลต่อความดันโลหิตได้
อาการใจสั่น นั้นอาจสร้างความรบกวนหรือตกใจต่อเราได้ แต่โดยทั่วไปนั้นอาการใจสั่นมักจะไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายและมักหายเองได้เป็นปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มที่สัมพันธ์กับภาวะบางอย่างเช่นเครียดหรือวิตกกังวล หรือได้รับสารกระตุ้นบางชนิดเช่นคาเฟอีน นิโคติน แอลกอฮอร์ หรือแม้แต่ในคนที่กำลังตั้งครรภ์ก็ตาม


อย่างไรก็ตามอาการใจสั่นนั้นอาจเกิดจากความผิดปกติหรือโรคทางหัวใจโดยตรงได้ โดยส่วนใหญ่อาการใจสั่นจากสาเหตุนี้มักมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติไม่เป็นจังหวะ ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ลักษณะอาการใจสั่นที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ หรือ โรคหัวใจ ได้แก่
– อาการใจสั่น ที่เกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยหอบกว่าปกติ
– อาการใจสั่น ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่มีสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นที่สามารถอธิบายได้
– อาการใจสั่น ที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
– อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด หรือแม้แต่มีโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
– อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่มีประวัติญาติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่ออายุยังน้อย เป็นต้น
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องไปพบแพทย์
พบได้บ่อยๆ ว่าเมื่ออาการและการเต้นผิดจังหวะของหัวใจหายไปก่อนพบแพทย์แล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย โดยการจับชีพจร และนับอัตราการเต้นของชีพจรในระยะเวลา 1 นาที และสังเกตจังหวะของชีพจรว่าเร็วกว่าปกติหรือไม่ ชีพจรสม่ำเสมอหรือเร็วช้าไม่สม่ำเสมออย่างไร
นอกจากนี้การสำรวจสมรรถภาพร่างกายตนเอง เช่น เหนื่อยง่าย มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลมบ่อย หัวใจสั่นมากผิดปกติทั้งที่ไม่ได้ออกกำลังกาย มีอาการบวมในร่างกายเกิดขึ้น นอนราบไม่ได้ ก็ควรจดบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์ที่ให้รักษาซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้การวินิจฉัยโรคเป็นอย่างยิ่ง

สาระสุขภาพ โดย นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล
การตรวจวินิจฉัย
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ส่งตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่เกิดจากภาวะดังกล่าวข้างต้นเช่น ตรวจระดับความเข้มข้นเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นต้น อาจตรวจเอกซเรย์เพื่อดูปอดและหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซึ่งมีความสำคัญมากในการวินิจฉัย หรือนำไปสู่การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสม ผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจมี หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจส่งตรวจการเต้นของหัวใจด้วยการเดิน วิ่ง สายพานเลื่อน (Exercise Stress Test) ผู้ป่วยที่สงสัยว่าความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ลิ้นหัวใจตีบ หรือ รั่ว ผนังกั้นหัวใจรั่ว หรือโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แพทย์จะส่งตรวจด้วย เครื่องตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามี ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่เกิดอาการไม่บ่อย แพทย์อาจส่งตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง ที่สามารถพกพาติดตัว และ บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ได้ เช่น 24-48 ชั่วโมง (Ambulatory ECG monitoring หรือ Holter)