ยามฉุกเฉิน : รู้จักและรับมือกับโรคอัมพาต (Stroke)



โรคอัมพาต(Stroke)คืออะไร?
โรคอัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากมีการตีบตันหรือแตกของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ ซึ่งทำให้การทำงานของสมองต้องหยุดชะงักและส่งผลให้เกิดอาการต่างๆตามมา ตามแต่ตำแหน่งหน้าที่ของสมองในส่วนที่ขาดเลือดนั้นทำงานอยู่
สาเหตุของโรคอัมพาตคืออะไร?ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% โดยเกิดจากลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมอง โดยสาเหตุอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง เป็นต้น
หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง อาจเกิดร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองคืออะไร?
• ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดีมีโอกาสเป็นโรคอัมพาตได้มากกว่าคนปกติ
• เบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น และมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
• ไขมันในเลือดสูง เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ มีไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด
• โรคหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็จะทำให้สมองขาดเลือดได้
• การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง และเป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัวขึ้น พบว่าการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%

สัญญาณอันตรายที่ต้องคิดถึงโรคอัมพาต
โรคอัมพาตนั้นมักจะมีอาการเตือนก่อนที่จะเกิดโรค ฉะนั้นหากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง โดยที่แม้ในขณะนั้นอาการแสดงยังไม่มากและรู้สึกสบายดีอยู่ก็ตาม ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีนะครับ เนื่องจากอาการที่เป็นสัญญาณเตือนต่อไปนี้ อาจจะนำไปสู่อาการที่รุนแรงขึ้นจนแพทย์ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ครับ
• มีอาการชาหรืออ่อนแรงแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
• พูดลำบาก พูดไม่ได้หรือไม่เข้าใจคำพูด มีความบกพร่องทางการพูด
• มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน ร่วมกับเกิดอาการต่อไปนี้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน ได้แก่ รู้สึกเวียนศีรษะ มองไม่ชัด คลื่นไส้อาเจียน และมองเห็นภาพซ้อน
• มีอาการมึนงง หรือเดินไม่มั่นคง เสียศูนย์ เกิดอารมณ์สับสนเป็นเวลานานโดยไม่มีอาการหมดสติ
อนึ่งได้มีการรวบรวมอาการเตือนที่เป็นที่สังเกตได้ง่ายและใส่ตัวอักษรย่อในภาษาอังกฤษไว้ว่า FAST เพื่อกระตุ้นให้มีการตระหนักถึงความรวดเร็วในการรักษาสำหรับบุคคลทั่วไปไว้ ดังนี้นะครับ
Facial weakness (ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว)
Arm weakness (แขนอ่อนแรง ไม่มีแรง)
Speech difficult (พูดไม่ชัด พูดไม่ได้) และ
Time to act (ทุกอาการเกิดพร้อมกันทันที)


ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆต่อโรคอัมพาต
-เมื่อมีอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายไม่ควรรอสังเกตอาการที่บ้าน นอนพัก ดื่มน้ำหวาน นวดตามตัวรวมถึงรับประทานยาหรือสมุนไพรใดๆเองนะครับ สิ่งเหล่านี้นอกจากไม่ช่วยอาการดีขึ้นแล้ว อาจทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดในกรณีที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบ เพราะผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงจึงจะเกิดประโยชน์ หรือหากเป็นเป็นกรณีหลอดเลือดสมองแตก อาจทำให้การผ่าตัดล่าช้า จนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ครับ ดังนั้นสำหรับโรคนี้ยิ่งพามาพบแพทย์เร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต หรือ ความทุพพลภาพต่างๆที่จะตามมาได้มากเท่านั้นครับ
สาระสุขภาพ โดย นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล
โรคอัมพาตนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที ก็ยังต้องใช้เวลา ทรัพยากรและกำลังกายกำลังใจจากทั้งผู้ป่วยและญาติอีกนาน นอกจากนี้ในผู้ป่วยแต่ละคนจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยรายนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจึงดีกว่าการแก้ไขแน่ๆครับ ดังนั้นเราจึงควรตรวจสุขภาพและให้ความสำคัญกับการตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และงดการสูบบุหรี่ สุขภาพที่ดีเริ่มต้นไม่ยากที่ตัวเราเองวันนี้ครับ